การปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง ดินเป็นที่เกิดของทรัพยากร ธรรมชาติอื่นๆ ดินเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาโดยตลอด มนุษย์ทุกคนต้องอาศัยทรัพยากรดินในการยังชีพ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดินเป็นที่มาของปัจจัยสี่ อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ดินเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งยังคงต้องใช้ที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรอันเป็นอาชีพพื้นฐาน ดินเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น แต่เมื่อใช้ไปนานๆ โดยขาดการบำรุงรักษาหรือใช้ไม่เหมาะสมกับสภาพของดินหรือขาดการจัดการที่ดี ก็เสื่อมโทรมลงได้ เมื่อดินเสื่อมโทรมลงจะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตของประเทศ  การใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรของไทย  ส่วนใหญ่ใช้เพื่อทำนา รองลงมาคือปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ทำไร่

การเร่งพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาการใช้พื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับเกษตรกรรมไปเป็นพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมมากมาย รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เคียงก็อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกมาอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเกษตรไปเป็นโครงการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่ บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟ เป็นต้น

นอกจากการสูญเสียที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังอาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืดภาคกลางของประเทศไทยและในเขตเกษตรกรรมที่ใช้น้ำจืด ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งในสังคมมากมาย ทั้งนี้เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีระบบการจัดการที่เหมาะสม จึงมีการระบายน้ำเลี้ยงกุ้งลงสู่พื้นที่ข้างเคียงซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ผลิตผลเสียหาย นอกจากนั้นการทิ้งร้างนากุ้งเมื่อผลผลิตกุ้งลดลง โดยไปหาแหล่งผลิตหรือนาข้าวใหม่ๆ ก่อให้เกิดปัญหาการขยายตัวของพื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรหรือปลูกข้าว การฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้อาจต้องใช้งบประมาณมากและใช้ระยะเวลานาน และคาดไม่ได้ว่าพื้นที่หลังการฟื้นฟูจะกลับคงความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

การแก้ไขและการปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหา
การแก้ไขและการปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหา สามารถกระทำได้หลายวิธีการ เช่น
1) ในกรณีดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้ไขโดยการใช้น้ำฝนชะล้างเกลือที่มีอยู่ในดินให้ละลายออกไป เพื่อทำให้ความเค็มในดินเจือจางลงพอที่จะใช้พื้นที่นั้นมาทำการเพาะปลูกพืชทนเค็มบางชนิดได้ ส่วนการปรับปรุงบำรุงดินอาจทำได้หลายวิธี โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้ปุ๋ยหมัก การใช้พันธุ์ข้าวหรือพืชทนเค็ม เป็นต้น
2) ในกรณีดินเปรี้ยวจัด  ทำได้โดยการระบายน้ำเฉพาะในส่วนของเนื้อดินตอนบนออกเพื่อล้างสารที่เป็นกรดออกไป และจะต้องควบคุมให้มีน้ำแช่ขังอยู่ในดินล่าง  เพื่อป้องกันไม่ให้สารที่เป็นกรดเกิดขึ้นใหม่อีก   พร้อมกับจะต้องป้องกันไม่ให้น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยเข้าในบริเวณพื้นที่ และจะต้องใส่สารปรับปรุงดินพวกปูน เช่นปูนขาว ปูนมาร์ล หินปูนบดละเอียด หรือเปลือกหอยเผา เพื่อให้ทำปฏิกิริยาแก้ความเป็นกรดในดิน ควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารพืช
3) ในกรณีดินทรายจัด ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินให้แก่พืช และควรปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินและจัดการดินเฉพาะหลุม ปลูกไม้โตเร็ว

This entry was posted in ความรู้อสังหา and tagged , . Bookmark the permalink.