การทำการเกษตรในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ยังขาดการจัดทำที่เป็นระบบแบบแผน ขาดการบันทึกและค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม รวมถึงขาดการประเมินถึงต้นทุน และสภาวะการณ์ของราคาในวงกว้าง ซึ่งรายละเอียดที่กล่าวมานั้นล้วนจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดต้นทุนค่าใช้จ่ายและยังช่วยทำนายได้ถึงแนวโน้มการลงทุนได้อีกด้วย ดังคำกล่าว “เราเขา รู้เรา รบร้อยชนะร้อย” แต่เราไม่ต้องเอาถึงร้อยแค่เก้าสิบโอกาสสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว โดยขอให้จำแนกรายละเอียดเป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ดังนี้
วางแผนจัดหาและตรวจสอบที่ดิน การเลือกทำเลและแหล่งที่จะลงทุนเพาะปลูกนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ดังคำกล่าวที่ว่า “ชัยภูมิดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ก่อนที่เราจะซื้อหรือเช่า พื้นที่นั้น ควรเลือกพืชที่จะปลูกไว้ในใจก่อนว่าเราจะเลือกพืชประเภทไหนไว้สัก 3 หรือ 4 ชนิด จากนั้นสิ่งที่ต้องเข้าไปสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่ คือ
1. เจ้าของเดิมมีการขุดหน้าดินเดิมไปขายหรือไม่ พื้นที่ที่ดีควรมีหน้าดินลึกเพียงพอกับระบบรากของพืชที่เราจะปลูก
2. เป็นพื้นที่ ๆ ปลูกพืชที่บางประเภทที่ทำให้หน้าดินเสื่อมสภาพหรือเป็นแหล่งเพาะโรคไม่ หรือมีเคยโรคพืชระบาดรุนแรงในพื้นที่นั้นหรือไม่ เช่นพืชจำพวก ยูคาลิปตัส,มันสำปะหลัง ฯลฯ จะทำให้ต้นทุนการปรับปรุงดินของเราสูงขึ้น , ฯลฯ
3. มีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะใช้หรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ก็ต้องการระบบชลประทานที่ดี มีน้ำตลอดปี เช่น คลองชลประทานขนาดกลาง-ใหญ่ ไม่ใช่แค่ทางน้ำเล็ก ๆ สำหรับทำนา
4. สภาพอากาศเหมาะที่จะปลูกพืชหรือพันธุ์พืชประเภทนั้น ๆ หรือไม่ เช่น ส้มโอปลูกในเขตหนาว(ทางเหนือ) รสชาติจะติดขม, ยางพาราปลูกในพื้นที่ความชื้นต่ำ จะให้น้ำยางน้อยกว่าในพื้นที่ความชื้นสูง ฯลฯ
5. ระยะทางการขนส่งจากพื้นที่ปลูก ถึงตลาดขายสินค้า มีระยะทางไกลเกินไปหรือไม่ หากไกลมาก ควรปลูกพืชราคาหรือไม่ หรือพืชที่ทนต่อการขนส่งดีกว่า
6. ตลาดของพืชชนิดที่เราจะปลูกนั้น เป็นตลาดจำเพาะหรือเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อมากและกว้าง เช่น พืชบางชนิดมีราคาดีแต่ความต้องการของตลาดน้อย หรือผู้ซื้อปลายทางน้อย หากเราไม่มั่นใจในตลาดเลยก็ไม่ควรเสี่ยงปลูก
7. ความยากง่ายของการดูแลพืชชนิดนั้น ๆ ที่จะปลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของเกษตรกรเอง และสภาพอากาศซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคและแมลงในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสารกำจัดศัตรูพืชสูงมาก